ไม่ได้รับใบแจ้งครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัย ต้องทำอย่างไร
ก่อนถึงวันครบกำหนดชำระ 7 วัน หากท่านยังไม่ได้รับใบแจ้งครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัย ขอให้ท่านติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อขอใบแจ้งครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัย หรือ Download ด้วยตัวท่านเองที่ PhillipLifeTH ทั้งบน Mobile Application หรือทางเว็บไซต์ คลิก
Tips : ท่านจะไม่พลาดการได้รับการแจ้งเตือนครบกำหนดชำระเบี้ยฯ หากท่าน Update หรือแจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือ email ของท่านกับบริษัทฯ
รับชำระเบี้ยประกันภัย ด้วยบัตรเครดิต หรือไม่
บริษัทฯ ยินดีรับชำระเบี้ยประกันภัยด้วยบัตรเครดิต โดยหากไม่สะดวกที่จะนำบัตรเครดิตมามาชำระด้วยตนเองที่สำนักงานของบริษัทฯ สามารถดำเนินการดังนี้
เอกสารที่ใช้
1. หนังสือยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยผ่านบัตรเครดิต
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
3. สำเนาหน้าบัตรเครดิต(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน
(โดยดำเนินการ เมื่อครบกำหนดชำระเบี้ย หรือในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน การชำระเบี้ยประกันภัย )
ส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ หรือ ทาง email : [email protected] หรือ Line : @philliplife
ต้องการชำระเบี้ยประกันภัย ด้วยการหักบัญชีธนาคาร จะต้องทำอย่างไร
บริษัทฯ ยินดีรับชำระเบี้ยประกันภัยด้วยบัตรเครดิต โดยหากไม่สะดวกที่จะนำบัตรเครดิตมามาชำระด้วยตนเองที่สำนักงานของบริษัทฯ สามารถดำเนินการดังนี้
เอกสารที่ใช้
1. หนังสือขอให้หักบัญชีเงินฝากธนาคาร
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
3. สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคาร(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง) ที่มีชื่อบัญชี และเลขที่บัญชี ประเภทสะสมทรัพย์/ออมทรัพย์ หมายเหตุ สำเนาบัตรประชาชน และ สำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้เอาประกันภัย (กรณีเป็นกรมธรรม์ผู้เยาว์ให้ใช้สำเนาบัตรประชาชน และสมุดบัญชีธนาคารของผู้ปกครอง)
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งยืนยันความถูกต้องสามารถหักบัญชีได้จากธนาคาร
( โดยส่งเอกสารข้างต้นให้บริษัทฯ อย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันครบกำหนดชำระเบี้ย)
ส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์ หรือ ทาง email : [email protected] หรือ Line : @philliplife
กรณีที่ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันภัยต่อไปได้ จะทำอย่างไรได้บ้าง
มีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้ท่านได้รับประโยชน์สูงสุด และทำให้ท่านได้รับความคุ้มครองต่อไป ดังนี้
ขอเปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยฯ เป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือน
ยกเลิก หรือลดผลปรโยชน์สัญญาเพิ่มเติมบางตัว ที่ท่านคิดว่าไม่จำเป็น เพื่อให้เบี้ยฯ ลดลง
ขอเปลี่ยนกรมธรรม์เป็นการประกันภัยแบบขยายระยะเวลา ท่านจะได้รับความคุ้มครองต่อไป โดยไม่ต้องชำระเบี้ยฯ
ขอเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ท่านจะได้รับความคุ้มครองต่อไป โดยไม่ต้องชำระเบี้ยฯ
จำเป็นต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัยของบริษัทฯ เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญาของบริษัทฯ หรือไม่
ท่านสามารถแสดงบัตรประจำตัวประชาชนทดแทนได้ โดยท่านจะต้องแจ้งเพิ่มเติมว่ามีประกันกับบริษัทฯ
กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่คู่สัญญาของบริษัทฯ จะเบิกสินไหมค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่
กรณีนี้ ท่านจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วนำมาเบิกกับบริษัทฯ ในภายหลัง โดยช่วงเวลาที่ท่านเข้ารับการรักษา กรมธรรม์จะต้องมีผลบังคับอยู่
ในช่วงผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย หากยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัย จะสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลคู่สัญญาของบริษัทฯ ได้หรือไม่
ในระหว่างระยะเวลาผ่อนผันกรมธรรม์ประกันภัยยังคงมีผลบังคับ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โดยท่านจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถใช้สิทธิผ่านโรงพยาบาลคู่สัญญาของบริษัทฯ ผ่านบริการ Fax Claim ในช่วงระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยนั้นได้ กรณีที่ท่านยังไม่ชำระเบี้ยฯ ท่าจะต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วมาเบิกกับบริษัทฯ ในภายหลัง
กรณีต้องการใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลต้นฉบับคืน เพื่อไปเบิกกับที่อื่น จะต้องทำอย่างไร
บริษัทฯ ยินดีคืนต้นฉบับคืนให้ท่าน เพียงท่านแจ้งความประสงค์โดยใช้ หนังสือแจ้งความประสงค์ขอเอกสารคืน download คลิก เพื่อขอใบเสร็จรับเงินคืน โดยแจ้งมาพร้อมการเรียกร้องสินไหมทดแทน ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
- กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยฯ ให้ไม่เต็มตามจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงิน บริษัทฯ จะคืนใบเสร็จรับเงินต้นฉบับให้โดยประทับตรารับรองการจ่ายลงในใบเสร็จรับเงิน เพื่อนำไปเบิกส่วนที่เหลือกับที่อื่นต่อไป
- กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยฯ ให้เต็มตามจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงินแล้ว บริษัทฯ สงวนสิทธิที่จะไม่คืนใบเสร็จรับเงินต้นฉบับให้ แต่จะสำเนาใบเสร็จรับเงินพร้อมประทับตรา รับรองการจ่ายคืนให้แทน
ใช้เวลานานเท่าไรในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน
ในขั้นตอนปกติเมื่อบริษัทฯ รับเอกสารการเบิกสินไหมค่ารักษาพยาบาลจะดำเนินการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหลักฐานที่ครบถ้วนและถูกต้อง แต่หากผู้เอาประกันภัยยังไม่ได้รับในกำหนดเวลาดังกล่าว สามารถติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ที่
Line : @philliplife หรือ email : [email protected] หรือ
โทรศัพท์ 02-022-5800 ในเวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 8.30 – 17.00 น.
เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ผู้รับประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยต้องดำเนินการอย่างไรบ้างในการเรียกร้องสินไหมมรณกรรม
ผู้รับผลประโยชน์ต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบ ภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต และท่านสามารถเตรียมเอกสารในการเรียกร้องสินไหมมรณกรรม รายละเอียด คลิก
กรณีเมื่อผู้เอาประกันภัยทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร หรือผู้ชำระเบี้ยฯ ทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรหรือเสียชีวิต ซึ่งบริษัทได้รับเอกสารเรียกร้องสินไหมแล้วแต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ผู้รับผลประโยชน์ต้องชำระเบี้ยประกันภัยที่ครบกำหนดชำระหรือไม่
ผู้รับผลประโยชน์ต้องชำระเบี้ยประกันภัยในงวดที่ถึงกำหนดชำระ เพื่อรักษาสถานะกรมธรรม์ให้ยังคงมีผลบังคับ หากบริษัทฯ พิจารณาเสร็จสิ้นและได้รับการยกเว้นเบี้ยฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเบี้ยประกันภัยดังกล่าวแก่ผู้รับผลประโยชน์ต่อไป
ทำไมผู้รับผลประโยชน์ต้องดำเนินการแสดงตน (KYC) สำหรับผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บริษัทฯมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและดำเนินการแสดงตน (KYC) สำหรับผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะกระทำเมื่อผู้รับผลประโยชน์ยื่นเอกสารโดยตรงกับพนักงานบริษัทฯ รวมถึงสาขาต่างๆ ด้วย
ติดเชื้อโควิดและกักตัว Home Isolation หรือ Community Isolation สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไหม
สามารถเบิกได้ หากมีเอกสารยืนยันการติดเชื้อและแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการสาธารณสุข
พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ผู้ป่วยรายนั้นสามารถแยกกักตัว จึงจะเข้าเงื่อนไขการพิจารณา
โดยการเบิกค่ารักษาพยาบาล มีข้อกำหนดดังนี้
- กรณีมีความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอก (OPD) จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่ได้จ่ายจริงตามวงเงิน OPD
- กรณีมีความคุ้มครองแบบผู้ป่วยใน (IPD) จ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก ภายใต้วงเงิน ‘ค่าบริการทั่วไปสำหรับการรักษาพยาบาล’
- กรณีมีความคุ้มครองทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน (OPD & IPD) จ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก ภายใต้วงเงิน ‘ค่าบริการทั่วไปสำหรับการรักษาพยาบาล’ และ OPD Limit
ทั้งนี้ ค่ารักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์เบิกได้ตามที่จ่ายจริงแบบผู้ป่วยนอกแต่ไม่เกินจำนวน ผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลและต้องเป็นการสั่งจากแพทย์โดยตรงเท่านั้น อาทิ เช่น
- ค่าแพทย์ค่าพยาบาลที่รักษา
- ค่ายาพื้นฐาน และยาฟ้าทะลายโจร
- ค่าปรอทวัดไข้ (ที่ไม่ใช่แบบ Digital)
- ค่าหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ (จัดหาโดยโรงพยาบาล และคลินิกที่ร่วมในโครงการ Home Isolation หรือ Community Isolation เท่านั้น)
* ทั้งนี้ไม่คุ้มครองค่าจัดส่งยา
* เงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์และอ้างอิงเพิ่มเติมจากเอกสาร คปภ. คำสั่งนายทะเบียนที่ 44/2564
เอกสารเบิกค่ารักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ต้องใช้อะไรบ้าง
- เอกสารเบิกค่ารักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ต้องใช้อะไรบ้าง
- เอกสารการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อได้ จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี RT-PCR
- ใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลที่ให้บริการ โดยจะต้องมีหลักฐานว่าเป็นสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation
- ใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาล หรือหน่วยงานของรัฐรายละเอียดค่ารักษาพยาบาล
- ใบคำร้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน download คลิก
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัย
- สำเนาหน้าแรก ของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของบัญชี
หากซื้อชุดตรวจโควิดด้วยตนเองมาตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด จากนั้นซื้อยาและรักษาตัวเองที่บ้าน โดยที่ไม่ได้เข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยรายได้หรือไม่
ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หากพบว่าติดเชื้อจำเป็นต้องลงทะเบียนตามเงื่อนไขการเข้ารักษาแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation) ที่เป็นไปตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยสามารถลงทะเบียนผ่าน https://crmsup.nhso.go.th/ เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแล
ติดเชื้อโควิดและกักตัว Home Isolation หรือ Community Isolation สามารถเบิกค่าชดเชยรายวันได้ไหม
จะสามารถเบิกได้ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- มีเอกสารแสดงว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยแพทย์ผู้ดูแลรักษา
- มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับผู้เอาประกันภัยได้ รวมถึงผู้มีภาวะเสี่ยง ได้แก่ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีภาวะอ้วนดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัม/ม.² หรือมีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- จะจ่ายค่าชดเชยสูงสุดไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ
เอกสารเบิกค่าชดเชยรายวัน หรือชดเชยรายได้ ภายใต้การรักษาแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ต้องใช้อะไรบ้าง
จะต้องใช้เอกสาร ดังนี้
- เอกสารการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อได้ จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี RT-PCR
- ใบรับรองแพทย์ระบุความจำเป็นทางการแพทย์ในการรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือกรณีไม่มีสถานพยาบาลรองรับผู้เอาประกันภัยได้ แต่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรับไว้เป็นผู้ป่วยใน โดยแพทย์ต้องระบุว่าการรักษานี้ผู้ป่วยถูกจำแนกเป็นผู้ป่วยสีเขียว,เหลือง หรือแดง
- ใบคำร้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน download คลิก
4 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัย
- สำเนาหน้าแรก ของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของบัญชี
บริษัทฯ จะจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา หรือเงินปันผล เมื่อใด
ขึ้นอยู่กับวิธีที่ท่านแจ้งความประสงค์ไว้ หากขอรับเป็นเงินสด บริษัทฯ จะจัดส่งเช็คถึงมือท่านภายใน 7 วัน หลังจากวันครบกำหนดจ่ายเงิน กรณีที่ท่านไม่ได้รับขอให่ท่านติดต่อบริษัทฯ หรือตัวแทนที่ให้บริการท่าน แต่หากท่านขอรับผ่านบัญชีธนาคาร บริษัทฯ จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ท่านแจ้งไว้ ภายในวันถัดจากวันครบกำหนดจ่ายเงินฯ
Tips : หากท่านแจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับบริษัทฯ จะมี SMS แจ้งท่าน เมื่อเงินถูกโอนเข้าบัญชีของท่าน
เอกสารที่ใช้
- คำร้องขอระบุ/เปลี่ยนแปลงวิธีขอรับเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์
- สำเนาบัตรประตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
- สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคารมีชื่อบัญชี และเลขที่บัญชี ประเภทสะสมทรัพย์/ออมทรัพย์(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน
วิธีรับเงินจ่ายคืนระหว่างสัญญา มีกี่วิธี รายละเอียดเป็นอย่างไร ท่านสามารถเลือกรับเงินได้ 3 วิธี ได้แก่
- ขอรับเป็นเงินสด บริษัทฯ จะจ่ายเป็นเช็คส่งให้ท่าน หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของท่าน
- ขอนำมาหักชำระเบี้ยประกันภัย ซึ่งวิธีนี้ท่านอาจต้องชำระเงินเพิ่มเข้ามาบางส่วน เพื่อให้เพียงพอที่จะชำระเบี้ยฯ
- ขอฝากสะสมไว้กับบริษัทฯ โดยได้รับดอกเบี้ย (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ท่านซื้อ ซึ่งจะปรากฏข้อกำหนดการรับเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์)
ท่านสามารถขอเปลี่ยนแปลงวิธีรับเงินจ่ายคืนได้ตลอดสัญญา โดยต้องแจ้งล่วงหน้า ก่อนวันครบกำหนดจ่ายอย่างน้อย 15 วัน โดยดำเนินการดังนี้
กรณีได้รับเช็คเงินเงินจ่ายคืนระหว่างสัญญา แต่ลืมไม่ได้เอาไปขึ้นเงิน จะต้องทำอย่างไร
โดยทั่วไปเช็คจะมีอายุ 6 เดือน นับจากวันที่ระบุบนเช็ค หากยังไม่เกิน 6 เดือน ท่านสามารถนำไปขึ้นเงินได้ แต่หากเกิน 6 เดือนแล้ว สามารถส่งเช็คดังกล่าวมาให้บริษัทฯ เพื่อออกเช็คฉบับใหม่ให้ท่าน
Tips : บริษัทฯ แนะนำให้ท่านรับเงิน ด้วยการโอนเข้าบัญชีธนาคาร เพื่อความรวดเร็วและปัญหาเกี่ยวกับเช็ค
กรมธรรม์ใกล้ครบกำหนดสัญญา บริษัทฯ จะจ่ายเงินครบกำหนดสัญญาให้เมื่อใด อย่างไร
บริษัทฯ เข้าใจดีถึงเป้าหมายการออมเงินในระยะยาวของท่าน เงินครบสัญญา บริษัทฯ จึงสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าและส่งให้ท่าน เพื่อให้ท่านสามารถนำเช็คไปขึ้นเงินได้ในวันครบกำหนดสัญญา หรือกรณีที่ท่านขอรับเงินด้วยการโอนเข้าบัญชีธนาคาร ท่านจะได้รับเงินในวันครบกำหนดสัญญา
การใช้สิทธิ Free look period คืออะไร
เป็นสิทธิในการขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ นับจากวันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับเล่มกรมธรรม์ โดยจะได้รับเบี้ยประกันภัยคืนหลังจากหักค่าใช้จ่ายของบริษัทฉบับละ 500 บาท และหักค่าตรวจสุขภาพตามที่จ่ายจริง (ถ้ามี) เว้นแต่เป็นการเสนอขายกรมธรรม์โดยใช้วิธีการทางอเล็กทรอนิกส์ บริษัทฯ จะคืนเบี้ยฯ เต็มจำนวนโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ แต่หากพ้นกำหนดที่จะใช้สิทธิ Free look period แล้ว คุณจะต้องขอยกเลิกกรมธรรม์ด้วยการเวนคืนกรมธรรม์แทน
การเปลี่ยนกรมธรรม์เป็นการประกันภัยแบบขยายเวลา เป็นอย่างไร
เป็นทางเลือกในการหยุดชำระเบี้ยฯ โดยยังคงมีความคุ้มครองของสัญญาหลักอยู่ด้วยจำนวนเงินประกันภัยเท่าเดิม แต่ระยะเวลาอาจสั้นลง หรืออาจคุ้มครองจนถึงครบกำหนดสัญญา ขึ้นอยู่กับปีกรมธรรม์ที่ชำระเบี้ยฯ มา ในขณะที่สัญญาเพิ่มเติมฯ จะสิ้นสุดความคุ้มครอง กรมธรรม์ที่ดำเนินการได้บริษัทฯ จะต้องรับประกันในอัตราเบี้ยฯ มาตรฐาน ดำเนินการโดย
เอกสารที่ใช้
- คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
- กรมธรรม์ประกันชีวิต
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
หมายเหตุ : ต้องเป็นกรมธรรม์ที่บริษัทรับประกันในอัตราเบี้ยปกติ(Standard)
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน และจะต้องดำเนินการในช่วงระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย
การเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้มูลค่าเงินสำเร็จ เป็นอย่างไร
เป็นทางเลือกในการหยุดชำระเบี้ยฯ โดยยังคงมีความคุ้มครองของสัญญาหลักไปจนถึงครบกำหนดสัญญา ด้วยจำนวนเงินประกันภัยที่ลดลง หรืออาจเท่าเดิม ขึ้นอยู่กับปีกรมธรรม์ที่ชำระเบี้ยฯ มา ในขณะที่สัญญาเพิ่มเติมฯ จะสิ้นสุดความคุ้มครอง ดำเนินการโดย
เอกสารที่ใช้
- คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
- กรมธรรม์ประกันชีวิต
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
ระยะเวลาดำเนินการ : ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน และจะต้องดำเนินการในช่วงระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย
การขอต่ออายุกรมธรรม์ ให้กลับมามีผลบังคับ (Reinstatement)
เมื่อท่านไม่ชำระเบี้ยประกันภัย ภายในระยะเวลาผ่อนผัน กรมธรรม์อาจสิ้นผลบังคับลง เมื่อกรมธรรม์สิ้นสุดผลบังคับ ท่านสามารถขอต่ออายุกรมธรรม์ให้กลับมามีผลบังคับตามเดิมได้ ภายใน 5 ปี โดยจะต้องแสดงผลตรวจสุขภาพ หรือประวัติสุขภาพของท่าน ประกอบการพิจารณาต่ออายุฯ โดยค่าใช้จ่ายของท่านเอง(ถ้ามี) โดยดำเนินการ ดังนี้
เอกสารที่ใช้
- หนังสือรับรองสุขภาพ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
หมายเหตุ
- แนะนำให้ติดต่อตัวแทนที่ให้บริการ หรือเจ้าหน้าที่บริษัทเพื่อขอทราบจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จะชำระในการขอต่ออายุกรมธรรม์สัญญา และขอคำแนะนำอื่นๆ
- กรมธรรม์ที่ต่ออายุฯ ได้ ต้องขาดอายุไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่กรมธรรม์ขาดอายุ
ระยะเวลาดำเนินการ : ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน
เปลี่ยนแปลงชื่อ-สกุล ผู้เอาประกันภัย / ผู้รับประโยชน์ / ผู้ชำระเบี้ยฯ
เอกสารที่ใช้
1. คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
2. กรมธรรม์
3. สำเนาบัตรประตัวประชาชน (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
4. สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน
เปลี่ยนแปลงที่ติดต่อ
เอกสารที่ใช้
1. คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
2. สำเนาบัตรประตัวประชาชน (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน
เปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์
เอกสารที่ใช้
1. คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
2. กรมธรรม์ประกันชีวิต
3. สำเนาบัตรประจำตัวชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
4. สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
หมายเหตุ : สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เอาประกัน และผู้รับประโยชน์
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน
ออกกรมธรรม์แทนฉบับที่สูญหาย
ระยะเวลาดำเนินการ
1. คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
3. ใบแจ้งความ
4. ค่าธรรมเนียมออกกรมธรรม์ 200 บาท
หมายเหตุ ใบแจ้งความผู้เอาประกันภัยควรจะต้องเป็นผู้แจ้งด้วยตนเอง พร้อมระบุรายละเอียดเลขที่กรมธรรม์
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน
เปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยประกันภัย
เอกสารที่ใช้
1. คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
หมายเหตุ ติดต่อตัวแทนผู้ให้บริการ หรือเจ้าหน้าที่บริษัทเพื่อขอทราบจำนวนเบี้ยประกันอัตราใหม่ และให้คำแนะนำในการขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยฯ
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน ควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระภายในระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยฯ 31 วัน
ซื้อสัญญาเพิ่มเติม
เอกสารที่ใช้
1. คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
2. กรมธรรม์ประกันชีวิต
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
4. หนังสือรับรองสุขภาพ แถลงสุขภาพ ส่วนที่1 และ ส่วนที่ 3
หมายเหตุ : ติดต่อตัวแทนผู้ให้บริการ หรือเจ้าหน้าที่บริษัทฯ เพื่อขอทราบเบี้ยประกันภัยอัตราใหม่ และให้คำแนะนำในการขอซื้อสัญญาเพิ่มเติม
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วันทำการ นับตั้งแต่วันครบรอบปีกรมธรรม์และบริษัทรับเอกสารครบถ้วน(ควรดำเนินการ ก่อนครบวันครบกำหนดชำระเบี้ยฯ 30 วัน)
หมายเหตุ : สัญญาเพิ่มเติมจะเริ่มมีผลบังคับ ณ.วันครบรอบปีกรมธรรม์
ยกเลิก/ลดความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติม
เอกสารที่ใช้
1. คำร้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรมธรรม์
2. กรมธรรม์ประกันชีวิต
3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
ระยะเวลาดำเนินการ
ไม่เกิน 3- 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเอกสารครบถ้วน (ควรดำเนินการขอยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมภายในกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยฯ 31 วัน)
กรมธรรม์ประกันชีวิต มีกี่ประเภท และเหมาะกับใครบ้าง
กรมธรรม์ประกันชีวิต แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ประเภทสามัญ
เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันชีวิตอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท และมีการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่บริษัทฯ นำเสนอออกสู่ตลาด จะเป็นกรมธรรม์ประเภทสามัญ - ประเภทอุตสาหกรรม
เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000 - 30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ การชำระเบี้ยประกันภัยจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นจึงมีระยะเวลารอคอย คือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทฯ ไม่เปิดขายกรมธรรม์ประเภทนี้แล้ว แต่ยังคงมีผู้เอาประกันภัยที่บริษัทฯ ยังคงมอบความคุ้มครองตามสัญญาให้อยู่จำนวนหนึ่ง - ประเภทกลุ่ม
เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม องค์กร หรือหน่วยงานที่สนใจทำประกันกลุ่ม สามารถติดต่อที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ โดยแจ้งชื่อหน่วยงานของท่าน และชื่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องการให้ติดต่อกลับ เพื่อฝ่ายประกันกลุ่มจะได้ติดต่อกลับไปหาท่านต่อไป
กรมธรรม์ประกันชีวิต ประเภทสามัญ แบ่งออกเป็นกี่แบบ
กรมธรรม์ประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ แต่ละแบบจะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป แต่แบบการประกันชีวิตพื้นฐานมีอยู่ 4 แบบคือ
- แบบตลอดชีพ
เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับจุนเจือ บุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าทำศพ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น - แบบสะสมทรัพย์ หรือออมทรัพย์
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกัน ภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิต และการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด - แบบชั่วระยะเวลา
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอา ประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง การเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่น ๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา - แบบเงินได้ประจำ หรือแบบบำนาญ
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอา ประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ
ความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันชีวิต มีอะไรบ้าง
ในกรมธรรม์ประกันชีวิต จะแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1
เป็นความคุ้มครองหลัก หรือสัญญาหลัก ซึ่งก็คือความคุ้มครองการเสียชีวิตในทุกกรณี กรมธรรม์ประกันชีวิตจะต้องมีความคุ้มครองส่วนนี้เป็นพื้นฐาน จะระบุระยะเวลาที่ให้ความคุ้มครอง และระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย ให้ทราบอย่างชัดเจน
ส่วนที่ 2
เป็นความคุ้มครองที่เพิ่มเติม หรือสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งก็คือ ความคุ้มครองส่วนที่เพิ่มเติมจากการเสียชีวิต ได้แก่ ความคุ้มครองกรณีประสบอุบัติเหตุ ความคุ้มครองกรณีต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ความคุ้มครองกรณีโรคร้ายแรง ความคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยฯ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยความคุ้มครองส่วนนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาปีต่อปี ผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิก หรือขอซื้อเพิ่มภายหลัง ระหว่างที่สัญญาหลักยังคงให้ชำระเบี้ยฯ หรือมีความคุ้มครองอยู่ ภายใต้ระเบียบและกฏเกณฑ์ของบริษัทฯ โดยทั่วไปแล้วตัวแทนประกันชีวิต จะแนะนำให้ซื้อความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมนี้ พร้อมกับสัญญาประกันชีวิตหลัก เนื่องจากการซื้อเพิ่มในภายหลัง จะมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง
ความคุ้มครองทั้ง 2 ส่วน ตัวแทนประกันชีวิต จะมีการพุดคุยกับลูกค้า เพื่อจัดแผนความคุ้มครองให้ตรงกับความต้องการ ควบคู่ไปกับการวางแผนทางเงินให้กับท่าน เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากการถือกรมธรรม์ประกันชีวิต
แบบประกัน หรือกรมธรรม์สำเร็จรูปเป็นอย่างไร
แบบประกัน หรือกรมธรรม์สำเร็จรูป ก็คือ กรมธรรม์ หรือแบบประกันที่แต่ละบริษัทฯ จัดเป็นแผนสำเร็จรูปโดยเอาความคุ้มครองตามสัญญาหลัก พร้อมด้วยสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ มารวบไว้ด้วยกัน จัดเป็นแผนการประกันชีวิต ซึ่งมีผลประโยชน์และความคุ้มครองแตกต่างกันไป ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการของตนเอง ในส่วนของบริษัทฯ กรมธรรม์ หรือแบบประกันสำเร็จรูปที่เสนอออกสู่ตลาดได้แก่ แมกซ์ ซีไอ แคร์ ที่เน้นให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรง พร้อมด้วยการประกันชีวิต หรือ ฮอสปิทอล แคช ที่เน้นเรื่องค่าชดเชยรายวันกรณีต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล พร้อมด้วยการประกันชีวิต เป็นต้น
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นกรมธรรม์ประเภทไหน
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทหนึ่ง (ไม่ใช่กรมธรรม์ประกันชีวิต) ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งกรณีการเสียชีวิต ทุพพลภาพ และ/หรือ ค่ารักษาพยาบาล เฉพาะจากการเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น มีระยะเวลาของสัญญา หรือความคุ้มครองแบบปีต่อปี หรือเพียง 1 ปีเท่านั้น สามารถสมัครทำประกันเมื่อใดก็ได้ ไม่มีการตรวจสุขภาพ แต่ผู้สมัครทำประกันจะต้องมีสุขภาพร่างกาย แข็งแรง สมบูรณ์ดี โดยมีการแถลงข้อเท็จจริงตามใบคำขอสมัครเอาประกันภัย ในส่วนของบริษัทฯ มีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น แม็กซ์ พีเอ, แม็กซ์ พีเอ พลัส และ คิดส์ พีเอ สำหรับเด็ก โดยสามารถสมัครทำประกันทางออนไลน์ด้วยตัวท่านเองที่ https://online.philliplife.com/home
กรมธรรม์ Unit Linked คืออะไร
Unit Linked มาจากคำว่า Unit Linked Insurance Policy (ULIP) หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (กรมธรรม์ Unit Linked) คือ การประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ เนื่องจากมูลค่ากรมธรรม์ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม
เบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ Unit Linked แบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 เป็นค่าความคุ้มครองตามที่กรมธรรม์ประกันชีวิตกำหนด โดยผู้ขอเอาประกันภัยสามารถเลือกสัดส่วนความคุ้มครองได้ตามความต้องการ ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารเอง และบริษัทจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการนำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินประเภทต่างๆ
ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามกรมธรรม์ ที่บริษัทเรียกเก็บ เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าดูแลรักษากรมธรรม์ และค่าบริการในการลงทุน ซึ่งจะกำหนดแตกต่างกันไปแล้วแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท
ส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่จัดสรรเข้าไปเป็นการลงทุนตามสัดส่วนที่ผู้ขอเอาประกันภัยเลือก ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทที่รับจัดการเงินดังกล่าวจะออกหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันชีวิตเป็นผู้ดูแลระบบบัญชีกรมธรรม์ของผู้เอาประกันภัย
ในส่วนของบริษัทฯ ได้มีการนำเสนอ กรมธรรม์ Unit Linked ออกสู่ตลาดทีชื่อว่า ยูนิต ลิงค์ เวลท์ ซิงเกิ้ล โดยสามารถอ่านข้อมูลแบบประกันนี้เพิ่มเติมได้ที่ https://www.philliplife.com/unit-linked-wealth-single/ และสามารถศึกษากรมธรรม์ Unit Linked เพิ่มเติมได้ที่ https://www.oic.or.th/th/consumer/insurance/50
จะทำประกันแบบไหนดี ปรึกษาใครดี
สำหรับท่านที่เป็นลูกค้าบริษัทฯ อยู่แล้ว ท่านสามารถติดต่อตัวแทนที่ให้บริการท่านได้ตลอดเวลา หากท่านยังไม่ได้เป็นลูกค้าบริษัทฯ ท่านสามารถติดต่อ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์
Line : @philliplife หรือ
Email : [email protected] หรือ
โทรศัพท์ : 02 022 5800 ในวันและเวลาทำการ
โดยแจ้งชื่อ-สกุล แบบประกันท่านสนใจ พร้อมช่องทางติดต่อที่ท่านสะดวกให้ติดต่อกลับ เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกแก่ท่านโดยต่อไปหรือ ท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมชมที่หน้าเพจประกันออนไลน์ https://online.philliplife.com/ เพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม หรือเลือกเปรียบเทียบแบบประกันที่ท่านสนใจ พร้อมสมัครทำประกันออนไลน์ได้ด้วยตัวท่านเอง